top of page

สถานที่สำคัญภายในวัด

พระอุโบสถ

มีพระระเบียงคดล้อมรอบ ลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมทรงไทยสมัยอยุธยา ก่ออิฐ ถือปูน มีหน้าบันประดับกระจกสี ประกอบลวดลายปูนปั้นสวยงามมาก ผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพเทพชุมนุม 5 ชั้น ที่มีความงดงามและทรงคุณค่าทางศิลปะที่มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษ ได้แก่ พระพรหม ยักษ์ ครุฑ ฤาษี และเทวดา ไม่ซ้ำแบบกัน คั่นกลางองค์เทพด้วยลายดอกไม้ ด้านหน้าและด้านหลังผนังหุ้มกลองของพระอุโบสถมีบานประตูด้านละ 2 ช่อง โดยด้านหน้าเจาะช่องหน้าต่างไว้อยู่ระหว่างกึ่งกลางของบานประตูทั้งสองข้าง แต่มีขนาดใหญ่กว่าบานประตู พระอุโบสถหลังนี้จึงแปลกกว่าที่อื่นๆ เพราะมีหน้าต่างเพียงหน้าต่างเดียว ส่วนด้านหลังของบานประตูและหน้าต่าง มีภาพเขียนทวารบาลรูปทรงสวยงามมาก พระพุทธรูปภายในพระอุโบสถ พระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย ถัดมาด้านซ้ายเป็นรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) ด้านขวาเป็นรูปหล่อพระครูมหาวิหาราภิรักษ์ (พุก) อดีตเจ้าอาวาสวัดใหญ่สุวรรณาราม และที่สำคัญคือ ด้านหลังพระประธานมีพระพุทธรูปโลหะปางมารวิชัย มีความแปลกคือที่พระบาทเบื้องขวามี 6 นิ้ว ส่วนที่พระระเบียงคดล้อมรอบพระอุโบสถ บริเวณหน้าบันจะประดับด้วยเลขห้า (๕) หมายถึงรัชกาลที่ 5 ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ และหากเดินดูระเบียงคดรอบๆ ก็จะเห็นหน้าบันด้านหนึ่งที่แปลกออกไป ประดับด้วยเลขห้าแบบกลับด้าน

IMG_6769.JPG
IMG_6809.JPG

หอไตรกลางน้ำ

เป็นหอไตรหลังเก่าตั้งอยู่กลางสระน้ำ รูปทรงแบบเรือนไทยโบราณชั้นเดียว 2 ห้อง แต่มี 3 เสา มีสะพานทอดจากริมขอบสระไปยังหอไตร เสาเดิมเป็นเสาไม้ แต่ได้ผุพังลง จึงเปลี่ยนมาใช้เสาปูน ซึ่งเสาสามต้นเป็นสัญลักษณ์หมายถึง พระอภิธรรม พระวินัย และพระสูตร รวมเรียกว่า พระไตรปิฎก

ศาลาการเปรียญ

ตามตำนานหลักฐานเดิมกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าเสือได้พระราชทานท้องพระโรงหลังหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือพระอาจารย์คือ สมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) มาทำศาลาการเปรียญ เมื่อคราวบูรณะวัดใหญ่สุวรรณาราม เป็นศาลาการเปรียญทรงไทย สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง ทางด้านทิศตะวันตกมีมุขประเจิด หลังคามุงด้วยกระเบื้องกาบู (กาบกล้วย) ประดับช่อฟ้าใบระกา ติดกระจกสี เป็นศาลาขนาดใหญ่ มีเสาแปดเหลี่ยมที่เขียนลายรดน้ำเหมือนกันเป็นคู่ๆ ทุกคู่ลายไม่ซ้ำกัน ส่วนภายนอกเดิมฝาผนังเขียนเป็นลายทองทั้งหลัง และยังมีคันทวยหน้าตั๊กแตนสวยงามมาก พร้อมกระจังพรึงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ปัจจุบันจะเห็นผนังด้านนอกกลายเป็นสีแดง เนื่องจากมีการบูรณะผิดพลาด บานประตูของศาลาการเปรียญ ถือว่าเป็นบานประตูประวัติศาสตร์ มีความงดงามและมีชื่อเสียงอย่างมาก ก็คือบานประตูกลางซึ่งอยู่ด้านหน้าของศาลาการเปรียญทางทิศตะวันออก ทำด้วยไม้สัก จำหลักลวดลายกระหนกก้านขด 2 ชั้น ปิดทองประดับกระจก กรอบเช็ดหน้าบานประตูทำไว้สวยงาม ตอนบนของบานประตูด้านมีรอยแตก เล่ากันว่าเคยถูกพม่าฟัน แต่นักวิชาการให้ความเห็นว่า น่าจะเป็นการทำลายประตูตั้งแต่ครั้งรื้อตำหนักถวายสมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) ภายในศาลาการเปรียญมีเสาแปดเหลี่ยมเขียนลายรดน้ำ ส่วนที่ฝาผนังและบนบานหน้าต่างก็มีภาพเขียนลายน้ำกาว ที่ยังสามารถมองเห็นได้จนถึงปัจจุบัน มีธรรมาสน์ฝีมืองดงามอยู่ 2 หลัง หลังเก่ามีมาพร้อมกับศาลาการเปรียญ ลักษณะเป็นไม้จำหลักทรงบุษบก อีกหลังได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ ลงรักปิดทองใหม่ และถูกอัญเชิญไปเข้าประกอบพิธี ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

IMG_6780.JPG
IMG_6812.JPG

“ถาน” หรือ “เวจกุฎี”

เป็นส้วมของพระสงฆ์ในสมัยก่อน ซึ่งที่วัดใหญ่สุวรรณารามได้อนุรักษ์ไว้ 2 หลัง ถานในสมัยโบราณ เป็นโรงเรือนที่แยกออกไปต่างหาก ส่วนใหญ่จะอยู่ท้ายวัดจะได้ไม่ส่งกลิ่นเหม็นมารบกวน ลักษณะเป็นโรงเรือนใต้ถุนสูง ด้านบนมีฝาปิดมิดชิด มีช่องระบายอากาศและช่องแสง มีประตูเปิดปิด

bottom of page